หลังคาบ้านโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ประหยัดค่าไฟบ้านได้จริงไหม?

Last updated: 22 Jul 2021  |  722 Views  | 

หลังคาบ้านโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ประหยัดค่าไฟบ้านได้จริงไหม?

1.มาทำความรู้จักแผงโซล่าเซลล์กันก่อน?
 
แผงโซล่าเซลล์(Solar Panel) ทำมาจากซิลิคอนบริสุทธิ์ที่สกัดมาจากดิน,หิน,ทราย เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตโซล่าเซลล์ หลักการทำงานคือเอาแผงโซล่าเซลล์ไปตั้งกลางแดด วางเอียง 15 องศา เพื่อให้รับแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ โดยพลังงานที่ได้จะเป็นกระแสตรง(DC) วิ่งเข้าเครื่อง Inverter เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้าเป็นกระแสสลับ(AC) ก่อนส่งเข้าไปใช้ในบ้าน
สำหรับขนาดที่ใช้กันในบ้าน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นแผง 24V หรือขนาด 1×2 m. ยกตัวอย่างถ้าเราจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อรับพลังงาน 3 กิโลวัตต์(kWp) หรือขนาด 3,000 วัตต์ เป็นค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ใช้ไฟกัน โดยจะต้องติดประมาณ 8 แผง ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตร.ม. หรือขนาด 4×4 m. ที่ใช้พื้นที่ไม่มากติดตั้งบนหลังคาได้สบายๆ แต่ควรเช็คความแข็งแรงของหลังคาก่อนการติดตั้งนะคะ
 

ขอบคุณรูปจาก Think of Living

สำหรับประเภทของแผง “โซล่าเซลล์” แสงอาทิตย์มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
แบบผลึกเดี่ยว (Mono Crystalline) – เป็นแผงโซล่าเซลล์ชนิดแรกๆ ที่ได้รับการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
 

วิธีสังเกต – มองเห็นสะพานไฟเป็นช่องๆสี่เหลี่ยมมุมโค้งหลายๆอันต่อกัน หรือผิวเผินจะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆคั้นระหว่างช่องสี่เหลี่ยม
เหมาะกับ – คนที่มีพื้นที่ติดตั้งน้อย และต้องการประสิทธิภาพต่อแผงสูง ซึ่งก็จะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงตามค่ะ
 
แบบผลึกรวม (Poly Crystalline) : เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีการใช้งานมากที่สุด เพราะเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Mono แต่ได้ราคาต้นทุนที่ประหยัดกว่า
 

วิธีสังเกต – มองเห็นเส้นสะพานไฟตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียงต่อๆกันเต็มไปหมดเลย ซึ่งจะแตกต่างกับแบบ Mono ชัดเจน
เหมาะกับ – คนที่อยากได้ประสิทธิภาพการใช้งานใกล้เคียงกับแผง Mono แต่ต้องการราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า
 
แบบฟิล์มบาง (Thin Film) : เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุน และเวลาในการผลิตแผ่นฟิล์ม แต่เนื่องจากเป็นฟิล์มบางเพียง 0.5 ไมครอน ทำให้ประสิทธิภาพต่ำที่สุด
 

วิธีสังเกต – มองเห็นเป็นแผ่นฟิล์มเรียบๆ ไม่มีเส้น และไม่มีรอยต่อใดๆทั้งสิ้น
เหมาะกับ – คนที่ใช้ทำเกษตรกรรมเพราะต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่เหมาะมาติดตั้งบนหลังคา ราคาถูก ประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ก็แลกกับประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัสดุอื่นๆ

แต่เดี๋ยวก่อนแผงโซล่าเซลล์จะเสื่อมสภาพลงทุกปี ดังนั้น เราจะคิดเต็มวัตต์ทุกปีไม่ได้ต้องคิดค่าเสื่อมสภาพเข้าไปด้วย โดยปีแรกจะได้เต็ม 300 วัตต์/แผ่น ปีที่สองประสิทธิภาพลดลง 2% เนื่องจากผลึกที่ประกอบเป็นโซล่าเซลล์ จะทำปฏิกิริยากับสภาพอากาศ และสภาพสิ่งแวดล้อม และช่วงปีที่ 2-25 ประสิทธิภาพจะลดลงปีละ 0.7% แต่ภายใน 25 ปี คำณวนแล้วจะไม่ต่ำกว่า 80% หลังจากนั้นโซล่าเซลล์ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ทางวิศวกรจะไม่รองรับประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนหรือปรับปรุงค่ะ
 

ขอบคุณรูปจาก Think of Living


นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องคำนึงอีกอย่าง คือตำแหน่งที่ควรวาง แผงโซล่าเซลล์ สำหรับบ้านพักอาศัยแนะนำให้ติดบนหลังคาบ้านในทิศใต้ เนื่องจากประเทศไทยพระอาทิตย์อ้อมใต้ ที่ทำให้รับแสงได้เต็มที่ ช่วงเวลาที่รับแสงแดดได้ดีที่สุดคือ 11.00-15.00 น. โดยให้วางเอียง 15 องศา และควรวางในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีอาคาร หรือต้นไม้บดบังค่ะ

ขอบคุณรูปจาก Think of Living

2.ระบบ Solar System มีทั้งหมด 3 ระบบ ได้แก่
 
1. ระบบ On Grid – เป็นแบบที่ได้รับความนิยมสูงในขณะนี้ เนื่องจากเป็นลูกผสมที่ใช้ทั้งพลังงานสะอาด และไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยเป็นแบบที่ต้องเปลี่ยนถ่ายกระแสไฟผ่าน On-Grid Inverter ก่อน เพราะต้องแปลงกระแสตรง(DC) เป็นกระแสสลับ(AC) 
 

ข้อดี – ไม่ต้องกังวลเวลามีพลังงานไม่เพียงพอ แล้วจะไม่มีไฟฟ้าใช้ในบ้าน เพราะระบบนี้เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หมด จะตัดเข้าการไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
ข้อเสีย – กรณีไฟฟ้าดับ แม้ระบบโซล่าเซลล์ยังทำงานอยู่ แต่เครื่อง Inverter จะหยุดทำงาน ทำให้ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้เช่นกัน ป้องกันไฟไหลย้อนกลับ
เหมาะกับ : คนที่นำไฟฟ้ามาใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนภายในบ้าน แต่ยังต้องใช้ไฟจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งยังไงก็ต้องจ่ายค่าไฟอยู่ดีนะ ^^

ขอบคุณข้อมูลจาก Think of Living

2. ระบบ Off Grid หรือ Stand Alone – เป็นระบบที่แยกใช้งานเดี่ยวๆ ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าเลย โดยมีแบตเตอรี่ในการเก็บไฟฟ้าสำรองของตัวเองใช้ในเวลากลางคืน ซึ่งระบบนี้ควรทำควบคู่ไปกับพลังงานลม พลังงานชีวมวล และ เครื่องยนต์ปั่นไฟ เป็นต้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น
 

ข้อดี – ไม่ต้องเสียค่าไฟจากการไฟฟ้าสักบาทเดียว เป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เองเลย
ข้อเสีย – มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องใช้แบตเตอรี่มาใช้ในการเก็บไฟสำรอง และต้องคำนวณการใช้ไฟให้เพียงพอต่อความต้องการ
เหมาะกับ : บ้านหรือสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง หรือไม่คุ้มที่จะเดินลากสายไฟยาวๆเข้ามาด้านในที่มีค่าใช้จ่ายสูง

ขอบคุณรูปจาก Think of Living

3. ระบบ Hybrid – เป็นแบบผสมผสานระหว่าง On Grid และ Off Grid โดยมีทั้งแบตเตอรี่สำหรับเก็บไป และไฟจากการไฟฟ้าหากยังไม่เพียงพอก็จะดึงไฟมาจากการไฟฟ้าชดเชยอีกทีหนึ่ง โดยถ้ากลางวันผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ได้ แล้วเราใช้ไม่หมดก็นำไปเก็บในแบตเตอรี่ ส่วนในเวลากลางคืนก็ดึงไฟจากแบตเตอรี่มาใช้ก่อนแล้วค่อยนำไฟฟ้าจากระบบการไฟฟ้ามาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือจะปรับให้แบตเตอรี่ใช้ได้ในเวลาไฟดับก็ได้นะ (เหมือนไฟสำรอง)
 

ข้อดี – สามารถสลับระบบการใช้งานไปมาได้ โดยถ้ากลางวันเราผลิตไฟฟ้าได้มากก็สามารถเก็บในแบตเตอรี่สำรองได้ ส่วนกลางคืนก็สามารถเลือกใช้ไฟจากการไฟฟ้า หรือจากแบตเตอรี่ก็ได้ เวลาไฟดับฉุกเฉินจะได้มีไฟไว้ใช้นะ
ข้อเสีย – ระบบนี้มีเครื่อง Inverter ที่รองรับได้น้อย เพราะต้องต่อทั้งแบตเตอรี่ และมิเตอร์จากการไฟฟ้า และยังไม่ได้รับการยอมรับจากการไฟฟ้า (กฟผ.) รวมไปถึงมีอุปกรณ์เยอะ ค่าใช้จ่ายก็สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนมากนัก
เหมาะกับ : คนที่มีกำลังทรัพย์มากหน่อย เพราะต้องเสียทั้งค่าไฟ และค่าบำรุงรักษาแบตเตอรี่ในอนาคต ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทีเดียว
 
 

3.คุ้มหรือไม่กับการลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ใช้ภายในบ้าน?
 
วันนี้เราขอพูดถึงระบบ On grid เป็นระบบที่ทำงานเฉพาะตอนกลางวัน โดยแผงโซล่าเซลล์จะผลิตไฟฟ้าเข้ามาทดแทนไฟจากการไฟฟ้า ซึ่งปกติเราจะจ่ายให้การไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท แต่เมื่อเรานำแผงโซล่าเซลล์เข้ามาควบคู่ด้วย โดยแผงโซล่าเซลล์สำหรับบ้านพักอาศัยเริ่มต้นตั้งแต่ 1-12 กิโลวัตต์ (kWp.) โดยแผงโซล่าเซลล์ 1 แผ่นผลิตพลังงานได้ประมาณ 300-400 วัตต์(w) ซึ่งบริษัทที่ติดตั้งมักคิดเป็น Package มาให้เหมาะสมกับการใช้งานบ้านเรา ส่วนว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้ม เราไปดู Case Study ตัวอย่างกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง  

ปัจจัยเบื้องต้นที่ต้องใช้ในการคำนวณความคุ้มค่า

  • ขนาดของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในแต่ละวัน
  • ปริมาณของแดด และระยะเวลาที่ใช้ผลิตแต่ละวัน (ตั้งไว้ที่ 4.5 ชั่วโมง/วัน คือจำนวนชั่วโมงที่รับแดดได้เต็มที่)
  • เงินลงทุน เพื่อคำนวณ จุดคุ้มทุนในแต่ละขนาดกำลังการผลิต
  • อัตราค่าไฟฟ้าปกติ ตั้งไว้ที่หน่วยละ 4.5 บาท (อัตราแบบก้าวหน้าขึ้นอยู่กับการใช้ไฟของแต่ละบ้าน)

Example : บ้านหลังนี้มีคนอยู่บ้านตลอดเวลา โดยใช้ไฟช่วงกลางวันและกลางคืนเท่ากัน หลังจากดูการใช้งานที่บ้านเฉลี่ยจำนวนหน่วยที่ใช้ 1000 หน่วย/เดือน ถ้าต้องการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้เพียงพอกับการใช้งาน ต้องใช้เวลากี่ปีในการคืนทุน?
 
คำนวณคร่าวๆเอา 1000/2 แบ่งเป็นช่วงกลางวัน 500 หน่วย และกลางคืน 500 หน่วย หารจำนวนหน่วยต่อวันได้ 500/30 = 16.66 หน่วย/วัน
สำหรับแผงโซล่าเซลล์เลือกใช้ขนาด 2.2 กิโลวัตต์ (kWp.) x ระยะเวลาในการผลิต/วัน จะสามารถประหยัดค่าไฟได้ 2.2 x 4.5 = 9.9 หน่วย/วัน (297 บาท/เดือน) เอาไปลบค่าเดิมเป็นหน่วยที่เราต้องจ่าย 500-297 = 203
เอาค่าไฟช่วงกลางวัน+กลางคืน จะได้จำนวนหน่วยที่ต้องจ่าย 500+203 = 703 หน่วย/เดือน จากปกติที่จ่ายค่าไฟเดือนละ 4,500 บาท ลดลงเหลือ 3,163.5 บาท หรือ ประหยัดค่าไฟไปได้เดือนละ 4,500 x 3,163.5 = 1,336.5 บาท ( 16,038 บาท/ปี)
 
สำหรับแผงโซล่าเซลล์ขนาด 2.2 กิโลวัตต์ ลงทุนค่าอุปกรณ์และติดตั้งโดยประมาณ 140,000 บาท เราจะคุ้มทุนประมาณ 8-9 ปี หลังจากปีที่ 9 เราจะได้ใช้ไฟฟรีเดือนละ 1,336.5 บาท ซึ่งถ้าใครรอเวลาได้ ก็น่าใช้งานอยู่นะคะ

ขอบคุณรูปจาก Think of Living

สำหรับคนที่สนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ต้องเผื่อเวลาทำเรื่องขออนุญาตจากหน่วยราชการก่อนการติดตั้ง ทำให้มีระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนล่วงหน้าก่อนติดตั้งด้วยนะ หรือถ้าใครรู้สึกว่ายุ่งยาก ปัจจุบันก็มีบริษัทเอกชนหลายๆเจ้าทำระบบ One Stop Service นอกจากให้บริการติดตั้ง ดูแล ยังขอใบอนุญาตให้ด้วยค่ะ

 
ยื่นขออนุญาตสำนักงานเขต เพื่อขออนุญาตปรับปรุงอาคารในการติดตั้งโซล่าเซลล์ โดยจะต้องมีแบบคำนวณโครงสร้างของวิศวกรโยธาแนบมาด้วย

  • ยื่นการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยต้องมีแบบ Single Line Diagram ที่เซ็นรับรองด้วยวิศวกรไฟฟ้า พร้อมทั้งติ
  • ตั้งเครื่อง Zero Export ป้องกันการไหลย้อนกลับไปที่มิเตอร์
  • ยื่นกรมกำกับพลังงาน เพื่อขออนุญาตใช้โซล่าเซลล์อย่างเป็นทางการ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​(กกพ.) ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย พ.ศ. 2564​ จำนวน​ 50 เมกะวัตต์​ ในอัตราค่าไฟใหม่ 2.20 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 10 ปี แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง​ (กฟน.) 15 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค​ ( กฟภ. ) 35 เมกะวัตต์ โดย​ให้มีผลตั้งแต่ 4 ก.พ.-30 ธ.ค. 2564

โดยหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือเฉพาะบ้านอยู่อาศัยกำลังผลิตติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่เกิน​ 10​ กิโลวัตต์

2.เป็นเจ้าของมิเตอร์ที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย​ ( กฟน.และ​ กฟภ.)​ ​ได้จ่ายไฟฟ้าให้แล้วและมีชื่อในทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้า

3.ผู้ผ่านการพิจารณาต้องติดต่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามเวลาที่กำหนดเพื่อเปลี่ยนเครื่องวัดไฟฟ้าเป็นประเภทดิจิทัล​และจะต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 30 วัน โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี ซึ่งจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2564 เท่านั้น

สำหรับปริมาณรับซื้อไฟฟ้ากำหนดไว้รวม 50 เมกะวัตต์​ แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง​ (กฟน.) 15 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค​ ( กฟภ. ) 35 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ 4 ก.พ. 2564 ถึง 30 ธ.ค. 2564

ในส่วนกลุ่มที่ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย​ตั้งแต่ปี 2562 และปี 2563 จะได้รับการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับโครงการปี 2564 นี้ ที่มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา

การประกาศของ ​กกพ.ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมาเพื่อให้การจัดหาไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการผลิตเพื่อใช้เองเป็นหลักส่วนที่เหลือจึงจะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายต่อไป

ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 8 ก.พ. 2564

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy